วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พิธีการลูกเสือสำรอง

การทำแกรนด์ฮาวล์

ผู้กำกับจะต้องเลือกที่ให้เหมาะสมเสียก่อน และยืนอยู่ในท่าตรง แล้วจึงเรียกและให้ปฏิบัติต่อไปนี้
     (1) ผู้กำกับลูกเสือ เรียก แพ๊ค-แพ๊ค-แพ๊ค” (แพ๊คคำท้ายให้เน้นให้หนัก) พร้อมกับสัญญาณมือแกว่ง รอบตัวเป็นรูปวงกลม
(มีรองผู้กำกับยืนอยู่นอกวงกลมและหลังผู้กำกับ)
     (2) ลูกเสือสำรอง เมื่อได้ยินเสียงเรียกของผู้กำกับ ทุกคนจะต้องขานรับพร้อมกันทันทีว่า แพ๊คแล้ววิ่ง มาเข้าแถวเป็นรูปวงกลมเล็กล้อมรอบผู้กำกับ (นายหมู่ของหมู่บริการอยู่ตรงหน้าผู้กำกับ จากนั้นก็เรียงไปตามลำดับ ให้ไหล่ต่อไหล่ชิดกัน)
     (3) ผู้กำกับลูกเสือผายมือทั้งสองออกไปข้าง ๆ เล็กน้อย นิ้วทั้งห้าชิดกัน ฝ่ามือแบหงาย (แล้วลดมือลง เพื่อตรวจดูความเรียบร้อย)
     (4) ลูกเสือสำรองเมื่อเห็นสัญญาณนี้ ทุกคนจับมือกันขยายออกเป็นรูปวงกลมใหญ่ จนแขนตึงจึงปล่อยมือ และจัดวงกลมให้เรียบร้อย
    (5) ผู้กำกับลูกเสือตรวจดูเห็นว่าวงกลมเรียบร้อยดีแล้ว ให้กางแขนทั้งสองออกไปข้าง ๆ เสมอไหล่ ขนานกับพื้น นิ้วทั้ง 5 ชิดกัน ฝ่ามือแบหงาย แล้วพลิกฝ่ามือคว่ำลงและงองุ้ม เป็นสัญญาณให้ลูกเสือนั่งลง
     (6) ลูกเสือสำรองทุกคนนั่งลงทันทีที่ให้นั่งลงบนส้นเท้าทั้งสอง แขนทั้งสองเหยียดตรงอยู่ระหว่างเข่า มือทั้งสองห่างกันพอควร แบะเข่าออกเล็กน้อยนิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองมือเหยียดชิดกัน และแตะพื้น นิ้วอื่น ๆ งอไว้ในอุ้งมือ (คือนิ้วหัวแม่มือกดนิ้วนางกับนิ้วก้อยไว้)
     (7) ผู้กำกับลูกเสือพลิกฝ่ามือทั้งสองหงายขึ้น เป็นสัญญาณให้ลูกเสือร้อง
     (8) ลูกเสือสำรองทุกคนแหงนหน้าร้องขึ้นพร้อมกันว่า อา-เค ล่า เรา - จะ - ทำ - ดี - ที่ - สุด
พอขาดคำว่าสุดให้ลูกเสือทุกคนกระโดดยืนขึ้น เท้าทั้งสองชิดติดกัน พร้อมกับยกมือทั้งสองที่อยู่ในท่านั่งให้ไว้เหนือหูและชิดหู
     (9) นายหมู่ลูกเสือซึ่งทำหน้าที่เป็นหมู่บริการในวันนั้น (ที่หันหน้าตรงกับผู้กำกับ) จะร้องขึ้นว่า
จงทำดี- จงทำดี - จงทำดีการร้อง ให้หันหน้าไปทางซ้าย - ตรงหน้า - ขวา ทีละครั้ง (เวลาร้องไม่ต้องผงกศีรษะ)
     (10) เมื่อสิ้นคำที่สามแล้ว ให้ลูกเสือทุกคนลดมือซ้ายลงมาแนบลำตัวอย่างว่องไว (มือแบออก) ส่วนมือ ขวาลดลงมาทำท่าวันทยหัตถ์ แล้วร้องขึ้นพร้อมกันว่า เราจะทำดี - จะทำดี - จะทำดีขณะที่ลูกเสือร้อง ให้ผู้กำกับทำวันทยหัตถ์ตามแบบลูกเสือสำรอง (สองนิ้ว) เป็นการรับเคารพของลูกเสือ และอาจจะกล่าวคำขอบใจหรือคำอื่นใดที่สั้น ๆ ก็ได้ รองผู้กำกับอื่นที่อยู่นอกวงกลมอยู่ในท่าตรง
  
พิธีเปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง
ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
แกรนด์ฮาวล์ - ชักธงขึ้น - สวดมนต์ - สงบนิ่ง - ตรวจแยก
     (1) แกรนด์ฮาวล์ - ผู้กำกับยืนอยู่หน้าเสาธง ห่างจากเสาธงพอสมควร เรียกลูกเสือทำแกรนด์ฮาวล์
มีรองผู้กำกับยืนอยู่ด้านหลังผู้กำกับ และนอกวงกลม (การทำแกรนด์ฮาวล์ได้อธิบายไว้แล้ว)
หลังจากทำแกรนด์ฮาวล์ ลูกเสือทุกคนอยู่ในท่าตรง
     (2) ชักธงขึ้น - ให้จัดลูกเสือที่เป็นหมู่บริการหรือทำหน้าที่หมู่บริการ 2 คน เป็นผู้ชักธง คือ
ให้เดินเข้าไปห่างจากเสาธงประมาณ 3 ก้าว ทั้งสองทำวันทยหัตถ์ แล้วคนหนึ่งก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว
เพื่อแก้เชือกที่ผูกธงออก แล้วถอยหลังมาตามเดิม สองคนช่วยกันชักธง (ให้ผืนธงอยู่ด้านขวาของผู้ชัก)
ผู้กำกับเป็นผู้สั่งทำความเคารพโดยออกคำสั่ง แพ๊ค - วันทยหัตถ์”(คำสั่งวันทยหัตถ์นี้ไม่ใช่คำบอกแบ่งว่า วันทย - หัตถ์แต่ เป็นคำบอกรวดว่า วันทยหัตถ์”) ลูกเสือในวงกลมทั้งหมดรวมทั้ง        ผู้กำกับและรองผู้กำกับอื่น ๆ ทำวันทยหัตถ์ พร้อมกัน ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำวันทยหัตถ์ 3 นิ้ว หมู่บริการนำร้องเพลงชาติ พอธงชาติขึ้นยอดเสาแล้ว คนหนึ่งเดินเข้าไปผูกเชือกธง อีกคนหนึ่งคงยืนอยู่ในท่าตรง (ไม่ต้องทำวันทยหัตถ์) เมื่อผูกเชือกเรียบร้อยแล้ว ให้ถอยหลัง 2 ก้าว มาหาคนที่กำลังยืนรออยู่ ทั้งสองคนทำวันทยหัตถ์ - ลดมือลง (ขณะนี้แถวในวงกลมทุกคนยังอยู่ในท่าวันทยหัตถ์) วิ่งกลับไปเข้าที่ของตน แล้วทำวันทยหัตถ์เหมือนลูกเสือในแถว ผู้กำกับสั่งว่า
มือลง ทุกคน จึงลดมือลงพร้อมกัน ส่วนผู้กำกับและผู้บังคับบัญชาลูกเสืออื่น ๆ ให้ลดมือลงพร้อมกับลูกเสือคนที่ชักธง
(ก่อนวิ่งกลับไปเข้าที่)
     (3) สวดมนต์ - พอลดมือลงแล้ว ทุกคนอยู่ในท่าตรง แล้วถอดหมวกเตรียมตัวสวดมนต์ หมู่บริการนำสวดมนต์
     (4) สงบนิ่ง - เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ทุกคนสงบนิ่ง
     (5) ตรวจ - การตรวจในตอนนี้จะตรวจอะไรก็ได้ เช่น เครื่องแบบ เล็บ ฟัน ความสะอาดอื่น ๆ
(ผู้กำกับ เป็นผู้สั่งก่อนจะให้ตรวจอะไร) แต่การตรวจในตอนปิดนั้น ให้ตรวจเครื่องแบบอย่างเดียว เพราะเหตุว่าลูกเสือเรียนมาเป็นเวลานานแล้ว เครื่องแต่งกายย่อมไม่เรียบร้อย และจะต้องแต่งเครื่องแบบกลับบ้าน ผ่านที่ชุมนุมชนหลายแห่งถ้าไม่เรียบร้อยอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่กองลูกเสือของตนได้
       วิธีตรวจ ตามปกติผู้กำกับจะให้รองผู้กำกับเป็นผู้ตรวจ แต่บางกรณีผู้กำกับไม่อยู่หรือมีน้อย ผู้กำกับจะให้นายหมู่ตรวจแทนก็ได้ ถ้ารองผู้กำกับตรวจ รองผู้กำกับที่จะไปตรวจนั้น ต้องทำความเคารพ (วันทยหัตถ์) ผู้กำกับเสียก่อนแล้วจึงไปตรวจหมู่ลูกเสือ พอไปถึงหน้าหมู่ลูกเสือที่จะรับตรวจ นายหมู่สั่งลูกเสือในหมู่ของตนว่าหมู่สี...... ตรง ลูกเสือทุกคนตรง นายหมู่คนเดียวทำวันทยหัตถ์ แล้วลดมือลงก้าวไปข้างหน้า 1 ก้าว ทำวันทยหัตถ์ แล้วรายงานว่า หมู่สี..... พร้อมที่จะรับตรวจแล้วครับ/ค่ะเมื่อรายงานจบ ลดมือลงถอยหลังเข้าที่เดิม ผู้ตรวจจะตรวจตัวนายหมู่ก่อน แล้วจึงตรวจลูกหมู่ต่อไป ขณะที่ตรวจลูกหมู่นั้น ให้นายหมู่ตามไปด้วย เพื่อจะได้ทราบถึง ข้อบกพร่องของลูกหมู่ เมื่อตรวจครบทุกคนแล้ว นายหมู่กลับเข้าที่ ทำวันทยหัตถ์ผู้ตรวจอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นนายหมู่จึงสั่งลูกหมู่พัก รองผู้กำกับที่ไปตรวจจะรายงานผลการตรวจให้ผู้กำกับทราบ คนไหนตรวจเสร็จก่อน ก็ให้รายงานก่อนโดยไม่ต้องรอกัน ถ้านายหมู่ตรวจเมื่อได้ยินคำสั่งผู้กำกับสั่งว่านายหมู่ตรวจให้รองนายหมู่วิ่งอ้อมด้านหลังหมู่ของตนไปยืนแทนที่นายหมู่และทำหน้าที่เสมือนนายหมู่ ส่วนนายหมู่ให้ก้าวออกมาข้างหน้าแถวของตน และทำหน้าที่เสมือนรองผู้กำกับ (วิธีตรวจก็เช่นเดียวกับรองผู้กำกับตรวจ) และเมื่อตรวจเสร็จแล้วให้ยืนรออยู่ก่อน จนเห็นว่าทุกหมู่ตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว   จึงวิ่งไปเข้าแถวหน้ากระดานหน้าผู้กำกับ (นายหมู่บริการอยู่หัวแถว) เพื่อรายงานผลการตรวจ การรายงานให้รายงานทีละคนจากหัวแถวก่อน คนไหนจะรายงานให้ก้าวออกไปข้างหน้า 1 ก้าว พร้อมกับทำวันทยหัตถ์แล้วรายงานผลการตรวจเสร็จแล้วลดมือลงถอยเข้าที่จนครบทุกคน แล้วผู้กำกับจึงสั่งเข้าที่ เมื่อนายหมู่วิ่งมาถึง ให้รองนายหมู่วิ่งอ้อมด้านหลังกลับเข้าที่ตามเดิม
     จากนั้น ผู้กำกับอาจจะพูดอะไรอีกเล็กน้อยก็ได้ แล้วสั่งแถวแยก โดยออกคำสั่งว่า แพ๊ค-แยกให้ลูกเสือทุกคนทำขวาหัน แล้วแยกย้ายกันไป

พิธีปิดประชุมกองลูกเสือสำรอง
ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
นัดหมาย - ตรวจ(เครื่องแบบ) - แกรนด์ฮาวล์ ชักธงลง - เลิก
     (1) นัดหมายเมื่อผู้กำกับได้เรียก แพ๊ค-แพ๊ค-แพ๊ค ให้ลูกเสือสำรองได้เข้ามาอยู่ในวงกลมเล็ก
แล้วผู้กำกับจะนัดหมาย สั่งการ หรือแนะนำตักเตือนเล็กๆ น้อยๆ เสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้การฝึกอบรมในครั้งต่อไปได้สมบูรณ์และได้ผลดียิ่งขึ้น
     (2) ตรวจ-การตรวจในตอนเลิกประชุมกองนี้ จะเป็นการตรวจความเรียบร้อยของเครื่องแบบเท่านั้น
(รายละเอียดได้กล่าวไว้ในเรื่องของการตรวจในตอนเปิดประชุมกองข้างต้นแล้ว)
     (3) แกรนด์ฮาวล์ปฏิบัติเช่นเดียวกับในตอนเปิดประชุมกอง
     (4) ชักธงลงปฏิบัติเช่นเดียวกับในตอนเปิดประชุมกอง แต่ไม่ต้องร้องเพลงชาติ และไม่ต้องเป่านกหวีด
     (5) เลิกเมื่อชักธงลงแล้ว ผู้ชักธงถอยเข้าที่เสร็จเรียบร้อย ผู้กำกับสั่ง มือลง หมดทุกคนแล้ว
ผู้กำกับสั่งแพ๊ค-เลิก ลูกเสือทุกคนทำวันทยหัตถ์ต่อผู้กำกับ (ผู้กำกับทำวันทยหัตถ์ตอบ) แล้วทำขวาหัน แยกย้ายกันกลับได้ 
หมายเหตุ   การตรวจหมู่ลูกเสือสำรอง ทั้งในตอนเปิดและปิดประชุมกอง เป็นการช่วยให้กองลูกเสือสำรองมีมาตรฐานดีขึ้น การตรวจนับว่าเป็น บันไดทองที่จะนำให้เด็กไปสู่ความเป็นผู้มีระเบียบวินัย เราจะพบสิ่งที่ดีและสิ่งบกพร่องในตัวเด็กไปพร้อมกัน เมื่อได้รับรายงานการตรวจแล้ว ผู้กำกับควรยกย่องในสิ่งที่เด็กทำได้ดีและควรชี้ข้อบกพร่องด้วย เพื่อให้เด็กได้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นในคราวต่อไป
     ข้อควรจำที่สำคัญของผู้กำกับอย่างหนึ่งก็คือ ก่อนที่ผู้กำกับจะทำการตรวจเด็ก ผู้กำกับต้องตรวจดูตัวเองให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า ได้แต่งเครื่องแบบถูกต้องสะอาดเรียบร้อยไม่มีข้อบกพร่องใดๆ

พิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรอง

         ในพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสำรอง หรือเรียกว่าพิธีปฏิญาณตน หรือเรียกว่าพิธีต้อนรับลูกเสือใหม่นั้น ให้เป็นหน้าที่ของกองลูกเสือ
ต่างกองต่างจัดทำ มีอยู่ ๒ วิธี คือ
         วิธีที่ ๑  มีกองลูกเสืออยู่ก่อนแล้ว และ
         วิธีที่ ๒  ยังไม่มีกอง เป็นการตั้งกองขึ้นใหม่ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
 ก. มีกองลูกเสืออยู่ก่อนแล้ว      (๑) กองลูกเสือสำรอง ทำรูปวงกลมใหญ่
     (๒) หมวกที่ติดเครื่องหมายลูกเสือสำรองแล้ว กับเครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดเหนือกระเป๋าเสื้ออยู่ที่ผู้กำกับ
     (๓) ธงประจำกอง (ถ้ามี) ให้รองผู้กำกับถือไว้ในท่าตรงนอกวงกลม
     (๔) ลูกเสือใหม่อยู่นอกวงกลม (แต่งเครื่องแบบครบ เว้นแต่เครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดกระเป๋าเสื้อกับหมวก
อยู่ที่ผู้กำกับ) ด้านหลังของหมู่ที่ตนจะเข้าไปอยู่
     (๕) ผู้กำกับเรียกลูกเสือใหม่เข้ามาในวงกลม หน้าผู้กำกับ (หากหลายคนให้เข้าแถวหน้ากระดาน)
     (๖) ผู้กำกับสอบถามลูกเสือใหม่ ดังนี้
               ผู้กำกับ          เจ้าต้องการเป็นลูกเสือสำรองใช่ไหม
               ลูกเสือใหม่     “ใช่ครับ
               ผู้กำกับ          เจ้าเข้าใจกฎ คำปฏิญาณ การทำความเคารพ และการทำแกรนด์ฮาวล์ หรือไม่
               ลูกเสือใหม่     “ข้าเข้าใจและปฏิบัติได้
               ผู้กำกับ           กฎมีว่าอย่างไร
               ลูกเสือใหม่     “ข้อ ๑ ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
                                     ข้อ ๒ ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง
               ผู้กำกับ           ถ้าเช่นนั้นจะให้เชื่อได้หรือไม่ว่า
                                    ข้อ ๑ เจ้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
                                     ข้อ ๒ เจ้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
               ลูกเสือใหม่      ทำวันทยหัตถ์                                     “ข้าสัญญาว่า
                                     ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
                                    ข้อ ๒ ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
               ผู้กำกับ           เจ้าจงรักษาคำมั่นสัญญาของเจ้าไว้ให้มั่นต่อไป บัดนี้เจ้าได้เข้าเป็นลูกเสือสำรอง
                                     และเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของคณะพี่น้องลูกเสือแห่งโลกอันยิ่งใหญ่แล้ว
     (๗) ผู้กำกับมอบเครื่องหมายลูกเสือสำรองสำหรับติดกระเป๋าและมอบหมวกให้ลูกเสือรับมาสวมเอง ลูกเสือทำวันทยหัตถ์
และลดมือลง แล้วสัมผัสมือกับผู้กำกับ
            ในกรณีที่ผู้กำกับกลุ่มเป็นประธาน หรือเชิญผู้อื่นเป็นประธาน ก็ควรให้ทำหน้าที่แทนผู้กำกับตามข้อ ๗ นี้
     (๘) เสร็จแล้ว ลูกเสือใหม่ทำกลับหลังหัน ทำความเคารพลูกเสือเก่าด้วยวันทยหัตถ์ ลูกเสือเก่ารับการเคารพด้วยท่าวันทยหัตถ์
เช่นกัน แล้วลดมือลงพร้อมกัน (โดยไม่ต้องสั่ง)
     (๙) ผู้กำกับสั่งลูกเสือใหม่เข้าประจำหมู่ โดยสั่งว่า ลูกเสือใหม่เข้าประจำหมู่-วิ่ง ลูกเสือใหม่วิ่งเข้าประจำหมู่ของตน
(ซึ่งจัดแบ่งไว้เรียบร้อยแล้ว)
     (๑๐) เสร็จสิ้นด้วยการทำแกรนด์ฮาวล์ 
ข. ยังไม่มีกองลูกเสือ     (๑) ลูกเสือใหม่ทั้งหมดเข้าแถวเป็นแถวตอนหมู่หน้าผู้กำกับ แต่งเครื่องแบบครบเว้นแต่เครื่องหมายลูกเสือสำรอง
ที่จะติดเหนือกระเป๋าเสื้อกับหมวกอยู่ที่ผู้กำกับ
     (๒) หมวกที่ติดเครื่องหมายลูกเสือสำรองแล้ว กับเครื่องหมายลูกเสือสำรองที่จะติดกระเป๋าเสื้ออยู่ที่ผู้กำกับ
     (๓) ธงประจำกอง (ถ้ามี) ให้รองผู้กำกับถือไว้ในท่าตรงนอกวงกลม
     (๔) ผู้กำกับเรียกลูกเสือใหม่ออกมายืนหน้าผู้กำกับครั้งละหมู่ โดยออกคำสั่งว่า หมู่สี...ให้หมู่สีนั้นออกมายืน เป็นแถวหน้ากระดาน
     (๕) ผู้กำกับสอบถามลูกเสือใหม่ (เหมือนอย่างมีกองลูกเสืออยู่ก่อนแล้ว)
     (๖) เมื่อผู้กำกับหรือประธานมอบเครื่องหมายและหมวก และสัมผัสมือกับลูกเสือใหม่แล้ว ให้ลูกเสือใหม่ไปเข้าแถวเตรียมเป็นรูป
วงกลม (หมายความว่า เมื่อทุกหมู่เข้าแถวเรียบร้อยแล้ว จะเป็นรูปวงกลมล้อมรอบผู้กำกับ โดยออกคำสั่งว่า
ลูกเสือใหม่เข้าประจำที่-วิ่งลูกเสือใหม่วิ่งไปเข้าที่ของตน ซึ่งผู้กำกับนัดหมายไว้ก่อนแล้ว)
     (๗) เสร็จสิ้นด้วยการทำแกรนด์ฮาวล์
หมายเหตุ ๑. ขณะที่ลูกเสือกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าผู้กำกับนั้น ผู้กำกับทำวันทยหัตถ์ (๒ นิ้ว) ส่วนรองผู้กำกับหรือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  อื่นๆทำรหัสลูกเสือ ๓ นิ้ว
               ๒. ลูกเสือผู้ใดได้กระทำพิธีปฏิญาณตนแล้ว ขณะที่ลูกเสือใหม่กล่าวคำปฏิญาณนั้น ต้องทำวันทยหัตถ์ด้วย ลูกเสือผู้ใด    ยังไม่ได้ปฏิญาณตนไม่ต้องทำ คงยืนตรงเฉยๆ
               ๓. การสั่งให้แถวแยก หมายความว่า แยกไปเรียนวิชาอื่นก่อนให้สั่งว่า แพ๊ค-แยกลูกเสือทำขวาหันแล้วแยกไป
               ๔. การสั่งให้เลิกแถว หมายความว่า เลิกจากการเรียนแล้ว หรือปิดการประชุมให้สั่งว่า  แพ๊ค-เลิก  ลูกเสือทำวันทยหัตถ์        แล้วขวาหันเลิกแถวไป

  พิธีประดับดาวดวงที่ ๑
ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (๑) กองลูกเสือสำรองทำเป็นรูปวงกลมใหญ่
     (๒) ผู้กำกับลูกเสือสำรองอยู่กลางวงกลม มีรองผู้กำกับยืนอยู่นอกวงกลมหลังผู้กำกับ
     (๓) หมวกที่ติดดาวดวงที่ ๑ แล้วอยู่ที่ผู้กำกับ
     (๔) ผู้กำกับประกาศให้กองรู้ว่า จะกระทำพิธีประดับดาวดวงที่ ๑
     (๕) ผู้กำกับเรียกลูกเสือที่จะได้ดาวดวงที่ ๑ มายืนหน้าผู้กำกับ (ซึ่งขณะนั้นต่างก็ยืนอยู่ในหมู่ของตน)
     (๖) ผู้กำกับอธิบายความหมายของดาวดวงที่ ๑ ให้ลูกเสือที่จะได้รับทราบ แล้วสั่งสอน
     (๗) ผู้กำกับมอบหมวกให้ลูกเสือ ลูกเสือรับไปสวมเองแล้วทำวันทยหัตถ์ผู้กำกับ
     (๘) ผู้กำกับแสดงความยินดีด้วยการสัมผัสมือกับลูกเสือ
     (๙) ลูกเสือที่ได้รับทำกลับหลังหัน วิ่งเข้าประจำหมู่ของตน
     (๑๐) ลูกเสือในหมู่ของตน (เฉพาะในหมู่ที่ลูกเสือได้รับดาวเท่านั้น) ต่างก็มาแสดงความยินดี
ด้วยการสัมผัสมือเสร็จพิธี ไม่มีแกรนด์ฮาวล์
พิธีประดับดาวดวงที่ ๒
ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (๑) กองลูกเสือสำรองทำเป็นรูปวงกลมใหญ่
     (๒) ผู้กำกับลูกเสือสำรองอยู่กลางวงกลม มีรองผู้กำกับยืนอยู่นอกวงกลมหลังผู้กำกับ
     (๓) หมวกที่ติดดาวดวงที่ ๒ แล้วอยู่ที่ผู้กำกับ
     (๔) ลูกเสือที่จะได้ดาวดวงที่ ๒ มายืนอยู่หน้าผู้กำกับ ในแถววงกลม (แม้จะมีหลายหมู่หลายคนก็ให้มายืนอยู่รวมกันหน้าผู้กำกับ)
     (๕) ผู้กำกับอธิบายความหมายของดาวดวงที่ ๒ให้ลูกเสือที่จะได้รับทราบ แล้วสั่งสอน
     (๖) ผู้กำกับสั่งให้ลูกเสือที่จะได้รับทวนคำปฏิญาณอีกครั้งหนึ่ง โดยสั่งว่า เพื่อเป็นที่แน่ใจว่า เจ้ายังจำคำปฏิญาณของเจ้าได้
ขอให้เจ้าทวนคำปฏิญาณอีกครั้งหนึ่ง
และลูกเสือที่จะได้รับก็กล่าวคำปฏิญาณ
     (๗) ผู้กำกับมอบหมวกให้ลูกเสือ ลูกเสือรับไปสวมเองแล้วทำวันทยหัตถ์ผู้กำกับ
     (๘) ผู้กำกับแสดงความยินดีด้วยการสัมผัสมือกับลูกเสือ
     (๙) ลูกเสือที่ได้รับดาวดวงที่ ๒ ทำกลับหลังหัน วิ่งเข้าที่ของตน (คือหน้าผู้กำกับ ไม่ใช่หมู่ของตน)
     (๑๐) กองลูกเสือแสดงความยินดีด้วยการทำแกรนด์ฮาวล์ ลูกเสือที่ได้รับดาวดวงที่ ๒ เป็นผู้ร้อง จงทำดี-จงทำดี-จงทำดี
(ถ้ามีหลายคน ก็ให้ร้องพร้อมกันทั้งหมด)

พิธีประดับดาวดวงที่ ๓
ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (๑) จัดลูกเสือที่จะได้รับดาวดวงที่ ๓ ให้ยืนอยู่ในแถววงกลมติดกับนายหมู่บริการทางด้านขวาตรงหน้าผู้กำกับ
     (๒) กองลูกเสือสำรองทำแกรนด์ฮาวล์ นายหมู่บริการเป็นผู้ร้อง จงทำดี-จงทำดี-จงทำดี
     (๓) หมวกที่ติดดาวดวงที่ ๑, ๒ และ ๓ แล้ว อยู่ที่ผู้กำกับ
     (๔) ผู้กำกับเรียกลูกเสือที่จะรับดาวดวงที่ ๓ ทั้งหมดมายืนในวงกลมตรงหน้าผู้กำกับเป็นแถวหน้ากระดาน แถวละไม่เกิน ๖ คน
     (๕) ผู้กำกับอธิบายความหมายของดาวดวงที่ ๓ และให้โอวาทสั่งสอนแล้วสั่งให้ลูกเสือกล่าวทวนคำปฏิญาณอีกครั้งหนึ่ง
     (๖) ผู้กำกับมอบหมวกให้ลูกเสือ ลูกเสือรับไปสวมเองแล้วทำความเคารพผู้กำกับ ผู้กำกับแสดงความยินดีด้วยการสัมผัสมือกับลูกเสือ
     (๗) ลูกเสือที่ได้รับดาวดวงที่ ๓ ทำกลับหลังหันวิ่งเข้าประจำที่ของตน
     (๘) ลูกเสือทุกคนในแถววงกลม สัมผัสมือแสดงความยินดีกับลูกเสือที่ได้รับดาวดวงที่ ๓ (ให้เวียนจากซ้ายไปขวา)
     (๙) กองลูกเสือสำรองทำแกรนด์ฮาวล์แสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่ง ให้ลูกเสือที่รับดาวดวงที่ ๓ เป็นผู้ร้อง จงทำดี-จงทำดี-จงทำดี



พิธีส่งลูกเสือสำรองไปเป็นลูกเสือสามัญ

ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
     (๑) กองลูกเสือสำรองทำรูปวงกลมใหญ่ กองลูกเสือสามัญทำรูปเกือกม้า
     (๒) ระหว่างกองทั้งสองมีการแบ่งเขตแดน (อาจจะใช้เชือก ไม้พลอง หรือโรยปูนขาวไว้ก็ได้)
     (๓) กองลูกเสือทั้งสองมีธงประจำกองและป้ายคำขวัญของตนและอยู่ในแดนของตน ให้รองผู้กำกับเป็นคนถือไว้
     (๔) กองลูกเสือสำรองทำแกรนด์ฮาวล์
     (๕) ผู้กำกับลูกเสือสำรองอธิบายความหมายของการจะทำพิธีส่งให้กองทราบ
     (๖) ผู้กำกับลูกเสือสำรอง เรียกลูกเสือที่จะส่งออกมายืนหน้าผู้กำกับ แล้วอบรมสั่งสอนในการที่จะจากไป แล้วให้ทวนคำปฏิญาณอีกครั้งหนึ่ง โดยสั่งว่าเพื่อเป็นที่แน่ใจว่า เจ้ายังจำคำปฏิญาณของเจ้าได้ ขอให้เจ้าทบทวนคำปฏิญาณอีกครั้งแล้วลูกเสือก็กล่าวคำปฏิญาณ
     (๗) ลูกเสือกลับหลังหัน ไปล่ำลาลูกเสือเฉพาะในหมู่ของตน โดยการสัมผัสมือแล้วกลับมายืนหน้าผู้กำกับกองลูกเสือสำรองไชโยให้แก่เขาสามครั้ง
     (๘) ผู้กำกับลูกเสือสำรองสั่งเปิดทางเพื่อนำลูกเสือออกไปหาผู้กำกับลูกเสือสามัญที่เส้นกั้นแดน
     (๙) ผู้กำกับลูกเสือสำรองจะแนะนำและฝากฝังลูกเสือสำรองกับผู้กำกับลูกเสือสามัญ แล้วนำลูกเสือสำรองข้ามแดนไป
(ถ้าหากลูกเสือสำรองผู้ใดได้รับ เครื่องหมายเสือเผ่นก็ให้กระโดดข้าม)
     (๑๐) ผู้กำกับลูกเสือสามัญนำลูกเสือสำรองผู้นั้นไปแนะนำให้รู้จักนายหมู่ของหมู่ที่ลูกเสือจะเข้าไปอยู่
     (๑๑) นายหมู่ลูกเสือสามัญแนะนำให้ลูกเสือสำรองรู้จักกับลูกเสือสามัญในหมู่ที่ตนเข้าไปอยู่นั้น
     (๑๒) พิธีเสร็จสิ้นด้วยการเปล่งเสียงร้องของลูกเสือสามัญหรือไชโยสามครั้ง

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ได้รับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ14 มกราคม 2565 เวลา 23:22

    Daftar Situs Judi Slot Online | DAFTAR SITUS JUDI SLOT ONLINE 카지노 가입 쿠폰 카지노 가입 쿠폰 rb88 rb88 1xbet korean 1xbet korean 572Best Fast Pay Online Casino Sites in Australia - Viecasino

    ตอบลบ