วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การชุมนุมรอบกองไฟ

การชุมนุมรอบกองไฟ

ความมุ่งหมายของการชุมนุมรอบกองไฟ
1.เป็นการฝึกอบรมตอนกลางคืนดังที่ ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (บี.พี.) ใช้ในการฝึกอบรมเด็กที่ไปอยู่ค่ายพักแรม  เกาะบราวน์ซี
2.ให้ลูกเสือได้ร้องเพลงร่วมกัน  หรือแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวกัน  เป็นการปลุกใจ  หรือเปลี่ยนแปลงอารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ  ผ่อนคลายความเคร่งเครียดให้บรรเทาเบาบางลง
3.ให้ลูกเสือแต่ละคนมีโอกาสแสดงออกในที่ชุมชน  โดยไม่เก้อเขิน กระดากอาย  เป็นการส่งเสริมสามัคคีของหมู่ ให้ทุกคนรู้จักการทำงานร่วมกัน
4.ใช้เป็นโอกาสสำหรับประกอบพิธีสำคัญบางกรณี  เช่น  แนะนำบุคคลสำคัญในกิจการลูกเสือ การแนะนำผู้มีเกียรติ การมอบเครื่องหมาย วูดแบดจ์ ฯลฯ
5.เชิญบุคคลสำคัญในท้องถิ่น   ตลอดจนบุคคลทั่วไป เป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมกิจการลูกเสือได้อีก  ทางหนึ่ง

สถานที่ใช้ในชุมนุมรอบกองไฟ
ค่ายลูกเสือควรมีบริเวณสำหรับการชุมนุมรอบกองไฟ   โดยเฉพาะมุมหนึ่งของค่าย   มีต้นไม้เป็นฉากหลัง ควรอยู่ห่างจากที่พักพอสมควร  แต่ไม่ไกลเกินไป  เพื่อมิต้องเสียเวลาและเกิดความยุ่งยาก  เมื่อลูกเสือเดินทางกลับที่พักหลังจากการชุมนุมเลิกแล้วการชุมนุมรอบกองไฟนี้   ถ้าไม่สะดวก เช่น   ฝนตก หรือมีเหตุอื่นควรจัด ภายในอาคารและใช้กองไฟที่ให้แสงสว่างอย่างอื่นแทน

การเตรียมก่อนเริ่มชุมนุมรอบกองไฟ
          1.  คณะผู้ให้การฝึกอบรมจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อกำหนดว่า  ในการชุมนุมรอบกองไฟนั้นจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง  จะให้ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกองไฟ   ผู้ใดเป็นพิธีกรและจะเชิญผู้ใดเป็นประธาน ถ้าเป็นการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือตามธรรมดา  โดยปกติผู้กำกับลูกเสือที่พาลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรมนั่นเองจะทำหน้าที่ประธาน และให้รองผู้กำกับลูกเสือหรือลูกเสือคนใดคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่พิธีกร
          2.  พิธีกร คือ  ผู้นำในการชุมนุมรอบกองไฟ มีหน้าที่ในการนำประธานมาสู่ที่ชุมนุม ประกาศลำดับกำหนดการต่างๆ เป็นผู้นำหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้นำในการร้องเพลง และในการให้ลูกเสือแสดงกิริยาอาการต่างๆ  เพื่อเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ ในการนี้พิธีกรควรทำรายละเอียดสำหรับตนเองไว้ว่า จะให้ผู้ใดทำอะไร เช่น จะให้ร้องเพลงอะไร หรือจะรำวงโดยร้องเพลงอะไร ดังนี้เป็นต้น ในการเลือกเพลงที่จะนำมาใช้นั้น ควรเลือกเพลงที่ทุกคนร้องได้ เมื่อเริ่มเปิดการชุมนุมใช้เพลงปลุกใจหรือเพลงที่มีจังหวะหรือเนื้อเพลงยั่วยุให้ดี เช่น เพลง "ไทยรวมกำลังตั้งมั่นเพลงแหลมทองเพลง รักเมืองไทย”  ตอนท้ายของการชุมนุม หลังจากจบทุกรายการแล้ว ก่อนที่จะเชิญประธานในพิธีกล่าวปิด ให้เป็นเพลงจังหวะช้า เป็นคติ เพลงลา ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ร้องได้ เช่น สร้อยเพลง   ลาวดวงเดือน ฯลฯ โดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียงและเครื่องดนตรีใดๆ เป็นการสร้างบรรยากาศให้ซาบซึ้งตรึงใจ โน้มน้าวให้มีอารมณ์ที่จะได้ฟังการกล่าวปิดของประธานในพิธี
         3. เมื่อได้กำหนดให้มีการชุมนุมรอบกองไฟ   เวลาใด  ต้องนัดหมายให้ทุกคนไปถึงที่ชุมนุมและนั่งตามที่ให้เรียบร้อยก่อนเวลาประมาณ  10 นาที หมู่บริการจุดไฟก่อนที่จะเชิญประธานเข้ามาในพิธี พิธีกรแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประธานและผู้ติดตามเป็นใคร แล้วออกไปเชิญประธานเข้ามายังบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ  พิธีกร ต้องนัดหมายเวลาที่ประธานจะเดินทางไปถึงบริเวณรอบนอกสถานที่ชุมนุมเวลาใด ทบทวนซักซ้อมการปฏิบัติมีขั้นตอนอย่างใด ผู้ติดตามประธานจะปฏิบัติอย่างไร ยืนอยู่ตรงไหน เมื่อประธานกล่าวเปิดแล้วจะร้องเพลงกี่เพลง เพลงอะไรบ้าง
          4.  ในการชุมนุมรอบกองไฟ ถือว่าเป็นบทเรียนบทหนึ่ง   ฉะนั้น ในขณะมีการชุมนุมรอบกองไฟจึงมีข้อกำหนดว่าทุกคนที่ร่วมอยู่ในการชุมนุมรอบกองไฟ  “ห้ามสูบบุหรี่”  หากงดไม่ได้จริงๆ ให้หลบออกไปสูบนอกที่ชุมชนได้ชั่วคราวพิธีกรหรือผู้บรรยาย  จะต้องชี้แจงนัดหมายการปฏิบัติขั้นตอนมอบงานให้รับผิดชอบว่า
               -  การแสดงให้แสดงเป็นหมู่  ให้ทุกคนในหมู่มีโอกาสแสดงโดยทั่วกัน ใช้เวลาหมู่ละประมาณ 8 – 10  นาที โดยปกติ  ให้ส่งเรื่องต่อพิธีกรก่อนเวลานัดหมายแสดงไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง  เพื่อพิธีกรจะได้มีเวลาจัดกำหนดการให้เหมาะสม
               -  เรื่องที่ควรแสดงคือเรื่องสนุกขบขัน ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ และเรื่องที่เป็นคติเตือนใจต่างๆ ส่วนเรื่องที่ไม่ควรแสดงคือ เรื่องไร้สาระ เช่น ผีสาง เรื่องลามก อนาจาร เรื่องเสียดสีสังคมหรือบุคคล เรื่องเกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องล้อเลียนศาสนา เป็นต้น
               -  เพลงประจำหมู่ ให้แต่ละหมู่แต่งเพลงประจำหมู่ให้มีชื่อหมู่เนื้อร้องเป็นการสร้างสรรค์ เช่น เป็นคติปลุกใจ  ความรัก ความสามัคคี ระเบียบ วินัย เพื่อที่จะร้องก่อนการแสดงของหมู่
               -  การจัดสถานที่ชุมนุม  การทำสลาก ทำพวงมาลัย ก่อกองไฟ และดูแลตามปกติเป็นหน้าที่ของหมู่บริการประจำวัน และหมู่บริการที่พ้นหน้าที่ในวันนั้นแบ่งหน้าที่กันทำ

การจัดกองไฟ
            กองไฟจะเป็นกองไฟที่ก่อด้วยไม้จริงหรือจะใช้ไฟให้แสงสว่างอย่างอื่นแทนก็ได้ การจัดที่นั่งรอบกองไฟให้จัดเป็นรูปวงกลมหรือรูเกือกม้า  ให้กองไฟอยู่ ตรงกลาง  มีที่นั่งสำหรับประธานและผู้ติดตาม  ตั้งอยู่ในทิศเหนือลม  ที่นั่งประธานเป็นที่นั่งเดี่ยว  ให้ตั้งล้ำหน้ากว่าแถวของผู้นั่งตามหมู่     สถานที่ได้กำหนดไว้ให้

พิธีเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ
            เมื่อประธานเข้ามาในบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ   พิธีกรสั่งให้ทุกคนตรงด้วยคำว่า  กอง-ตรง”  แล้ว ประธานจะหยุดรับการเคารพแล้วเดินไปยืนหน้ากองไฟ   ยกมือขวาแสดงรหัสของลูกเสือชูขึ้นไปข้างหน้าประมาณ 45  องศา  กล่าวข้อความที่เป็นมงคลและกล่าวในตอนสุดท้ายว่า  “ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้”  และคงยืนอยู่ ณ ที่เดิมจนจบเพลงที่ได้รับทราบจากการนัดหมายของพิธีกร  แล้วจึงกลับไปยังที่นั่ง         ในตอนนี้ผู้ติดตามประธานและผู้ร่วมงาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่บางคนอาจเดินตามประธานเข้ามา ทุกคนเข้าไปยืนยังที่ของตนขณะที่ประธานหยุดรับการเคารพ มีประธานแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เดินตรงเข้าไปใกล้กองไฟ เมื่อประธานกลับมานั่งยังที่นั่งซึ่งจัดไว้ ทุกคนนั่งลง
            เมื่อประธานกล่าวในตอนสุดท้ายว่า  “ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้”   พิธีกรให้สัญญาณให้ทุกคนร้องเป็นเสียงไฟลุกว่า   “ฟู่ๆ”   3  ครั้ง (ถ้าไฟเทียมไม่ต้อง)
            พิธีกรนำร้องเพลงปลุกใจ 1  หรือ  2  เพลง  เช่นเพลงสยามมานุสติ เพลงสดุดีมหาราชา เป็นต้น
            เมื่อเพลงจบประธานกลับไปนั่งแล้ว ให้ทุกคนนั่งลง
            หมู่บริการจะนำพวงมาลัยและพุ่มสลากชื่อของหมู่สำหรับประธานจับลำดับการแสดงไปให้ประธาน โดยให้มีขบวนแห่ นำโดยหมู่บริการที่จัดทำพวงมาลัยและพุ่มสลาก ทั้งหมู่เป็นต้นขบวน ถ้าจำนวนผู้เข้าร่วมมีจำนวนน้อยให้หมู่อื่นๆเข้าร่วมด้วย แต่ถ้ามีจำนวนมากก็ไม่จำเป็น จะทำให้เกิดการสับสน ต้นขบวนให้ยืนอยู่ด้านหน้าข้างขวาของผู้เป็นประธาน คนที่ถือพวงมาลัยยืนทางขวา คนถือพุ่มสลากยืนทางซ้าย ขบวนเริ่มออกเดินเมื่อพิธีกรเริ่มร้องเพลง การเดินให้เวียนขวาครบ  3 รอบ   ผู้ถือพวงมาลัยและพุ่มสลากยืนตรงหน้าประธาน  ทุกคนในขบวนกลับเข้านั่งที่เรียบร้อย   ผู้ถือพวงมาลัยมอบให้ประธานเป็นคนแรก คนถือพุ่มสลากมอบทีหลัง เสร็จแล้วกลับที่นั่ง
ลำดับการชุมนุมรอบกองไฟ
            พิธีกรเป็นผู้ประกาศกำหนดการชุมนุมรอบกองไฟตามลำดับ ในขั้นแรกก่อนมีการแสดงของหมู่ พิธีกรอาจนำหรือให้ผู้อื่นนำร้องเพลงอีก 1 หรือ  2  เพลง เช่น เพลงประจำจังหวัด เพลงสถาบัน เพลงรักเมืองไทย หรือเพลงความฝันอันสูงสุด เป็นต้น แล้วจึงไปขอให้ประธานจับสลากว่าจะให้หมู่ใดแสดงก่อน
            หมู่ใดจะแสดงให้นายหมู่ยืนขึ้น (อยู่กับที่ไม่ต้องออกมายืนตรงหน้าประธาน) โดยสั่งว่า หมู่..(กลุ่ม)..ตรงนายหมู่ทำวันทยหัตถ์ (ถ้ามีไม้พลองหรือไม้ง่ามทำวันทยาวุธ) แต่เพียงผู้เดียว  จากนั้นร้องเพลงประจำหมู่  เมื่อร้องเพลงประจำหมู่จบจึงเริ่มแสดง   เมื่อแสดงจบให้กลับไปยืนที่เดิมและสั่งอีกว่า หมู่…(กลุ่ม)..ตรง”   นายหมู่ทำความเคารพเช่นเดิม
            เมื่อการแสดงของหมู่จบลง  พิธีกรจะขอให้ใครคนหนึ่งกล่าวนำชมเชยแบบลูกเสือ (YELL) ประกอบท่าทางให้แก่หมู่ที่แสดง   เพื่อเป็นการแสดงความพอใจและขอบคุณผู้แสดง   ด้วยถ้อยคำหรือท่าทางที่สร้างสรรค์ 3  ครั้ง หลังจากนั้นหมู่แสดงต้องกล่าวตอบสั้นๆ  1 ครั้ง ครั้นแล้วพิธีกรก็ดำเนินการต่อไปตามกำหนดการและจัดให้มีการแสดงของหมู่ต่างๆ ตามลำดับ
            เมื่อการแสดงของหมู่หนึ่งจบแล้ว ก่อนจะให้เริ่มการแสดงของหมู่ต่อไป พิธีกรอาจนำร้องเพลง หรือการเปลี่ยนอิริยาบถมาสลับเป็นตอนๆ ตามที่เห็นสมควร หรือจะให้ผู้ใดนำแทนก็ได้โดยตกลงกันไว้ก่อน
            เมื่อจบการแสดงของทุกหมู่ตามที่กำหนดไว้แล้ว พิธีกรจะนำร้องเพลงที่มีจังหวะช้าๆ และมีความหมายแก่มวลสมาชิก เช่น เพลงสร้อยเพลงหรือเพลงลาวดวงเดือน 1 จบ จากนั้นพิธีกรจะเชิญประธานออกไปกล่าวเรื่องสั้นที่เป็นคติ และกล่าวปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ไม่ต้องยกมือขึ้นแสดงรหัส
             เมื่อประธานกล่าวในตอนสุดท้ายว่า  “ข้าพเจ้าขอปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้”  พิธีกรสั่ง  กอง-ตรงให้ทุกคนยืนขึ้นจับมือกันเป็นวงกลม (มือขวาทับมือซ้าย) แล้วร้องเพลงสามัคคีชุมนุม  เมื่อจบเพลงสามัคคีชุมนุมแล้ว   หมู่บริการนำสวดมนต์ แล้วร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี  จากนั้นทุกคน แยกย้ายกันออกนอกบริเวณ กลับที่พักอย่างสงบโดยไม่ส่งเสียงเอะอะ ส่วนหมู่บริการ จะกลับมาดับไฟและทำความสะอาด ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุม
            ในการชุมนุมรอบกองไฟ การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมให้สนุกสนานร่าเริงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมิฉะนั้นผู้เข้าชุมนุมอาจจะรู้สึกเบื่อและง่วงเหงาหาวนอน  การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมนี้อาจทำได้หลายวิธี ตามแต่โอกาสอันเหมาะสม   และเป็นหน้าที่ของพิธีกรที่จะต้องเป็นผู้นำ หรือมอบหมายให้ผู้รู้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำ เช่น นำให้ร้องเพลง   นำให้แสดงกิริยาอาการต่างๆ ที่ขบขันหรือปลุกให้ตื่น เช่น ให้ร้องเพลง  “หากว่าเรากำลังสบาย จงตบมือพลัน”   หรือจัดให้มีการรำวงหรือนำตบมือเป็นจังหวะ แล้วให้ผู้อื่นตบตาม  ฯลฯ
 เมื่อมีผู้มาเยี่ยมเยียน
            ในกรณีที่จะมีบุคคลมาเยี่ยมเป็นหน้าที่พิธีกรจะจัดที่นั่งอันเหมาะสมให้ และขอทราบความประสงค์ แล้วจัดให้นำสิ่งของมอบให้ในระหว่างจบการแสดงของหมู่หนึ่งหมู่ใด โดยมอบให้กับประธานในพิธีซึ่งประธานอาจรับไว้ แล้วให้ผู้แทนของหมู่รับต่อไป พิธีกรจัดให้มีผู้แทนกล่าวชมเชยตามแบบลูกเสือ 

หมายเหตุ
1.   ให้มีเนื้อร้องประจำหมู่ที่ใช้ร้อง   ให้มีเนื้อร้องระบุชื่อหมู่ / กลุ่ม  มีสาระปลุกใจเป็นคติ
            2.   เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องมีคติสอนใจ  ประวัติศาสตร์   ปลุกใจ ให้รักชาติ ส่งเสริมขนบธรรมเนียม
ประเพณี   สนุกสนาน
            3.   ไม่ควรแสดงเรื่องไร้สาระ   เสียดสีบุคคล   เรื่องการเมือง ฯลฯ
4.   ห้ามใช้อาวุธจริง   ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มของเมารวมทั้งการนำมาใช้ในการแสดง
5.   ไม่ควรแตะต้องหรือนำสิ่งของข้ามกองไฟ  หรือใช้กองไฟประกอบการแสดงในทางไม่เหมาะสม
ตัวอย่างคำกล่าวเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ
            1. ด้วยจิตใจอันดีและสปิริตอันสูงของลูกเสือที่มาชุมนุม ณ กองไฟนี้ จากทิศเหนือ   ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ข้าพเจ้าขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงมาเป็นสักขีพยานในการชุมนุมรอบกองไฟนี้ จงนำโชคดีมาสู่ท่าน และขอให้กิจการลูกเสือจงเจริญรุ่งโรจน์เหมือนแสงไฟอันรุ่งโณจน์ สิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายขอจงมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านในกองไฟนี้พี่น้องลูกเสือทั้งหลาย บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้ 
            2. จากแสงไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ ณ บัดนี้ เปรียบประดุจกิจการของลูกเสือที่รุ่งโรจน์ ส่วนเถ้าถ่านที่มอดดับเหมือนกับสิ่งที่เราทำผิดพลาดไว้ขอให้สลายไป ถึงเวลาแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้ 
            3. ขอเดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก จงดลบันดาลให้กิจการลูกเสือเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปทั้ง 4 ทิศ 
ดุจเปลวเพลิง ที่ส่องแสงสว่างรุ่งโรจน์อยู่นี้ บัดนี้เป็นวาระฤกษ์อันควรเปิดการชุมนุมรอบกองไฟแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ  
            4. ท่ามกลางกองไฟอันรุ่งโรจน์ที่อยู่ตรงหน้าเรานี้ เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งวิญญาณและความรุ่งเรืองของกิจการลูกเสือ ส่วนความชั่วร้ายอันจะพึงเกิดขึ้นกับกิจการของคณะลูกเสือ ขอให้สลายหมดสิ้นไปเหมือนกับเถ้าถ่านของกองไฟ ที่กำลังจะมอดดับไป  บัดนี้ ถึงเวลาแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ

ตัวอย่างคำกล่าวชมเชย และขอบคุณ แบบลูกเสือ
(YELL)กรณีเมื่อจบการแสดงหรือการแข่งขัน

- เป็นคติ   มีประโยชน์
- เก่งอย่างนี้ ขอให้เก่งต่อไป
- เราอยากเก่งเหมือนท่าน
- เก่งแท้ไม่แพ้ใคร
- เก่งนัก จักจำไว้
- บุญตาที่ได้พบเห็น
- เก่งแท้ไม่แพ้ใคร
- ถ่ายทอดได้เหมือน
 สะเทือนใจคนดู
- ไม่ขาดสาระ สะใจคนชม
- แหวกแนวมาโชว์
 อ่าโอ่ทราบซ่า ทีท่าพาให้เชื่อ 
- สนุกแท้ลืมแก่ไปเลย
- แสดงมาหาดูยาก
- แสดงได้ดี ไม่มีที่ติ
- บุญตาที่ได้มาเห็น
- แสดงมาหาดูยาก
- สนุกแท้ ลืมแก่ไปเลย
- แสดงมาหาดูยาก
- ริเริ่มพัฒนา สรรหามาแปลก
- วาบซึ้งนัก จักทำตาม
- แสดงได้ดี ไม่มีที่ติ
- บรรเลงได้ดี ท่าทีสมจริง
- ลวดลายดี ไม่มีสอง
- สมบทบาท ไม่พลาดเลย
- มีคติน่าคิด สะกิดได้มันส์
- ชายนิ้ง หญิงเยี่ยม
  หาเทียมได้ยาก
- เดินเรื่องได้เหมาะ 
   แคะเคาะน่าทึ่ง
- สุขสมบันเทิง รื่นเริงดีจัง
- เก่งอย่างนี้ ขอให้เก่งต่อไป
- ได้รู้เรื่องแปลก
   แทรกมุมสนุกแท้ 
   ดีแน่ตลอดไป
- สวยอย่างนี้ ไม่มีใครสู้  


            คำกล่าวตอบของผู้แสดง 1 ครั้ง

- ขอบพระคุณ
- ไม่ยาก  หากช่วยกัน
- ชมว่าดี เรามีสุข
- ชมได้เพราะ
- พอเหมาะเวลา
- ไม่เหลิงคำยอ
- หยอกล้อกันเอง
- ยังเกรงไม่ผ่าน
- ท่านชอบ เราขอบคุณ
- ท่านสนุกเราสุขด้วย
- ชมว่าดี เรามีสุข
- ไม่มีทุกข์ เราสุขใจ
ถ้าผิดไปอภัยด้วย
- อยากช่วยให้ครื้นเครง
- ไม่เก่งเหมือนคำกล่าว
- เรื่องราวต้องแก้ไข
ดีใจทำให้สนุก
- อยากปลุกให้รักชาติ
- ผิดพลาดขออภัย
- ทำได้เพราะลูกเสือ
- เป็นไป เพราะใจเดียว
- น้อมรับจับจิตแท้
- ไม่แน่ไม่แสดง
อย่าตะแบงคำชม


กรณีผู้มาเยี่ยม   นำอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของมามอบให้

- เสียสละมา   พาตื้นตันใจ
- เสียสละให้น้องต้องบุชา
- พี่จ๋า   น้องจะไม่ลืมคุณ
- รักใดไม่เท่าน้ำใจพี่
- เหนื่อยเต็มที่   พี่มาพาหายเหนื่อย
- ความการุณ ขอทูนไว้
- น้ำใจดีหนอ   ขอให้เจริญ
-จงเจริญยิ่งเหนือสิ่งใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น